อย่างที่เราทราบกันดีแล้วว่าปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ นอกจากปัจจัยที่สำคัญคืออายุที่มากขึ้น โรคเบาหวาน ภาวะความดันโลหิตสูง ปัจจัยที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตซึ่งรวมถึงการออกกำลังกาย และการรับประทานอาหารก็อาจส่งผลต่อการแข็งตัวขององคชาตได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ปกติคนไข้ที่เข้ารับการปรึกษาปัญหาหย่อนสมรรถภาพทางเพศกับแพทย์มักจะได้รับการแนะนำให้เลิกบุหรี่และลดน้ำหนัก เนื่องจากมีการศึกษาก่อนหน้านี้แล้วว่า การออกกำลังกายสามารถช่วยป้องกันการเกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้ โดยเฉพาะในกลุ่มชายอายุมาก และแน่นอนก็จะมีคำถามที่ว่าเราควรออกกำลังกายมากเพียงใดจึงยังคงสมรรถภาพทางเพศไว้ได้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ปัจจุบันได้มีการศึกษาเพิ่มเติมถึงปัญหาที่ถกเถียงกันซึ่งการศึกษาได้มุ่งเน้นการหาปริมาณที่ต้องออกกำลังกายเพื่อคงสมรรถภาพทางเพศไว้ได้
จากรายงานของวารสารแพทย์ด้านเพศศาสตร์ (The Journal of Sexual Medicine (JSM)) รายงานว่าได้มีการศึกษาในคนไข้จำนวน 674 คน โดยมีอายุระหว่าง 45-60 ปี ซึ่งรวมถึงการตรวจทางระบบทางเดินปัสสาวะ ประวัติการรักษาพยาบาล และการตรวจระดับฮอร์โมนชายเทสโทสเตอโรนและระดับโปรตีน sex hormone-binding globulin (SHBG) ในเลือด และทำแบบสอบถามคะแนนทางเพศ (International Index of Erectile Functhion (IIEF-5)) 5 ข้อ เช่นเดียวกับแบบประเมินการออกกำลังกาย พีบีสกอร์ซึ่งประมาณการออกกำลังกายจะคำนวณเป็นกิโลจูลต่อสัปดาห์ โดย 4.2 กิโลจูลเท่ากับ 1 กิโลแคลอรี ผลการศึกษาพบว่าคะแนนจากแบบสอบถาม คะแนนทางเพศ (IIEF-5) พบว่าแปรผันตรงกับคะแนนจากแบบประเมินออกกำลังกายพีบีสกอร์ โดยเมื่อคะแนนจากคะแนนทางเพศ (IIEF-5) เพิ่มขึ้น คะแนนของแบบประเมินการออกกำลังกายก็อาจเพิ่มขึ้นได้ถึง 4,000 กิโลแคลอรี ต่อสัปดาห์ ส่วนระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนพบมีผลต่อคะแนนแบบสอบถามคะแนนทางเพศ (IIEF-5) เช่นกัน แต่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับคะแนนในแบบประเมินการออกกำลังกายเลย ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศขั้นรุนแรงจะลดลงถึง 82.9% ในชายที่ออกกำลังกายอย่างน้อย 3,000 กิโลแคลอรีต่อสัปดาห์ เมื่อเทียบกับกลุ่มชายที่ออกกำลังกายน้อยกว่า 3,000 กิโลแคลอรีต่อสัปดาห์
จากการศึกษานี้ สรุปได้ว่าความสามารถในการแข็งตัวขององคชาตสามารถรักษาไว้ให้คงอยู่กับเราได้ด้วยการออกกำลังกายเล็กน้อยอย่างสม่ำเสมอโดยการออกกำลังกายที่ใช้พลังงานเล็กน้อยอย่าง 1,000 กิโลแคลอรีต่อสัปดาห์ก็สามารถลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้แล้ว โดยถ้ามีการออกกำลังกายเพิ่มขึ้นอีก ก็จะสามารถลดความเสี่ยงในภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้มากขึ้น โดยออกกำลังกายได้มากถึง 4,000 กิโลแคลอรีต่อสัปดาห์ ซึ่งแพทย์สามารถใช้ความจริงนี้ในการกระตุ้นให้คนไข้มีการออกกำลังกายและปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตให้ดีขึ้นได้ สมรรถภาพทางเพศหากรู้แนวทางการป้องกันก็จะช่วยให้บุคคลนั้นสามารถร่วมเพศได้อย่างมีความสุขแม้ว่าอายุจะมากขึ้นก็ตาม ชายสูงอายุที่พลังทางเพศดีได้สืบประวัติแล้วอยู่ในกลุ่มนักวิ่งสวนลุมทุกเช้า บ้างก็กระจายอยู่ในสวนจตุจักร และนักกอล์ฟ 4 ครั้งต่อสัปดาห์ ส่วนมากจะละเว้นเหล้า เบียร์ บุหรี่ ของมัน ของหวาน คะแนนทางเพศเกิน 20 ทุกคน โดยมีความถี่ทางเพศสัมพันธ์จะพบอยู่ในระดับ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ แล้วพบว่าสามารถช่วยให้ลดความเครียดได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่แข็งแรงทางเพศ ดังนั้นเรื่องเพศต้องการการออกกำลังที่สม่ำเสมอยิ่งออกกำลังบ่อยก็ยิ่งแข็งแรงเท่าตัว
ขอบคุณที่มา ดร.คิว ลานทอง